April 27, 2024

“น้ำร้อนลวก” อุบัติเหตุใกล้ตัวของเชฟฝึกหัด ที่รู้ก่อนก็เตรียมรับมือได้มากกว่า

น้ำร้อนลวก

            แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงไป คนไม่ต้อง Work From Home กันแล้ว แต่กระแสความฮิตในการเป็นเชฟฝึกหัดของใครหลายคนไม่ได้จางหายตามไปด้วย เห็นได้จากกรุ๊ปทำอาหารตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีคนแวะเวียนกันมาสอบถามเทคนิคการทำอาหารกันอยู่เสมอ

            อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเป็นเชฟฝึกหัด นอกจากจะทำให้ได้ลองทำเมนูแปลกใหม่มากมายแล้ว ยังทำให้ได้ “แผล” ด้วย โดยหนึ่งในสาเหตุยอดฮิตของการเกิดแผลนั้นมาจากน้ำร้อนลวก

            บทความนี้เลยจะชวนเหล่าเชฟฝึกหัดมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผลน้ำร้อนลวก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุที่อาจเกินในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

แผลน้ำร้อนลวกมีหลายระดับและไม่ใช่ทุกระดับที่ใช้ยาทาภายนอกได้

          จากโฆษณายาทาแผลน้ำร้อนลวก ที่เคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ อาจทำให้ใครๆ เข้าใจว่า ไม่ว่าจะโดนน้ำร้อนลวกหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ใช้ยานั้นทาแผลได้

            แต่รู้ไหมว่า ความจริงแล้ว เราไม่สามารถใช้ยาทาแผลภายนอกกับแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวกได้เสมอไป เพราะแผลมีหลายระดับ และแผลแต่ละระดับ ต้องใช้การดูแลรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. แผลไหม้ระดับแรก

            แผลระดับนี้จะอยู่ที่ผิวหนังชั้นนอกสุดอย่างหนังกำพร้าเท่านั้น ซึ่งแผลจะมีแค่รอยแดง แต่ไม่มีตุ่มพอง และอาจทำคนเรารู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้ เราสามารถใช้ยาทาแผลเฉพาะภายนอกทั่วไปได้

  • แผลไหม้ระดับที่สอง
  • แผลไหม้ชนิดตื้น จะเกิดการไหม้ที่ชั้นหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น และหนังแท้ส่วนตื้น บาดแผลจะมีตุ่มพองใส ถ้าลอกเอาตุ่มพองออก จะเห็นพื้นแผลเป็นสีชมพู และมีน้ำเหลืองซึม ยังคงใช้ยาทาแผลภายนอกได้
  • แผลชนิดลึก จะเกิดการไหม้ที่ชั้นของหนังแท้ส่วนลึก บาดแผลจะไม่ค่อยมีตุ่มพอง แผลจะมีสีเหลืองขาว แห้ง และไม่ค่อยปวดแสบปวดร้อน แต่ไม่สามารถใช้ยาทาแผลภายนอกทั่วไปได้ ต้องใช้ยาทาแผลที่เป็นยาปฏิชีวนะเฉพาะที่เท่านั้น เพื่อลดการเกิดแผลติดเชื้อ เช่น BACTEX (แบคเท็กซ์)
  • แผลไหม้ระดับที่สาม

            แผลจะลึกลงไปจนทำลายหนังกำพร้า หนังแท้ ต่อมเหงื่อ เซลล์ประสาท หรืออาจกินลึกถึงกระดูก ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผลแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาด้วยยาทาแผลได้ ต้องอาศัยการผ่าตัดปลูกผิวหนัง

            ดังนั้นก่อนจะซื้อยาทาแผลน้ำร้อนลวกมาใช้ ควรประเมินสภาพแผลของตัวเองให้ชัวร์ก่อนว่าอยู่ในระดับไหน แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็อย่าเสี่ยงซื้อยาสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ช่วยประเมินระดับของแผล

ยาแผนปัจจุบันคือทางเลือกที่ชัวร์กว่าในการรักษาแผลน้ำร้อนลวก

          เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้ความเข้าใจมาตั้งแต่เด็ก ว่าถ้าโดนน้ำร้อนลวก ให้รีบทาด้วยว่านหางจระเข้ ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ผิด แต่ต้องยอมรับว่ามันอาจทำให้แผลติดเชื้อได้มากขึ้น เพราะการใช้สมุนไพรรักษาแผลให้ได้ผล จะต้องคำนึงถึงความสะอาดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เก็บเกี่ยว เก็บรักษา ตลอดจนนำมาทาแผล

            ถ้าเชฟฝึกหัดคนไหนที่ไม่มีความชำนาญทั้งในเรื่องการทำแผล และการใช้สมุนไพร ควรเลือกใช้ยาแผนปัจจุบันจะดีที่สุด เพราะกระบวนการผลิตยา ได้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของอย. แล้ว

เมื่อน้ำร้อนลวกต่างที่ก็ต้องดูแลต่างกัน

            ข้อสุดท้ายที่ควรรู้ คือ แผลน้ำร้อนลวกตามผิวหนังบริเวณต่างๆ จะมีการดูแลรักษาที่ต่างกันไป เช่น แผลบริเวณใบหน้า ควรทายาสม่ำเสมอ และสามารถเปิดแผลทิ้งไว้ได้ แผลที่มือ ควรทายา ปิดแผล และใส่เฝือกดามไว้ เพื่อยกมือและแขน ให้สูงกว่าระดับหัวใจ ภายใน 72 ชั่วโมงแรก เป็นต้น

ดังนั้น นอกจากจะหาซื้อยามาทาแผลแล้ว อย่าลืมปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลรักษาแผลเพิ่มเติมด้วย